วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552


อุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด อำเภอเมือง จ.ระยอง

อุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2524 มีเนื้อที่ 81,875 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่บนฝั่งและในทะเล ตลอดจนเกาะต่าง ๆ ประกอบด้วยสถานที่น่าสนใจ คือ หาดแม่รำพึง เขาแหลมหญ้า และหมู่เกาะเสม็ด อันประกอบไปด้วย เกาะเสม็ด เกาะจันทร์ เกาะสันฉลาม เกาะหินขาว เกาะค้างคาว เกาะกุฎี เกาะกรวย และเกาะปลาตีน อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ 3 เส้นทาง คือ เกาะเสม็ด เกาะกุฎี และเขาแหลมหญ้า ในแต่ละเส้นทางจะพบพันธุ์ไม้นานาชนิด เช่น พันธุ์มะนาวป่า ต้นไข่เต่า ต้นขันทองพยาบาท ต้นเสม็ดแดง และสัตว์ป่า เช่น อีเห็นเครือ พังพอนเล็ก ลิงแสม กระรอกหลากสี นกนางแอ่นบ้าน และนกฮูก เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีจุดชมวิวทั้ง 3 เส้นทาง อีกด้วย บริเวณที่ทำการอุทยานเขาแหลมหญ้ามี บริการบ้านพักด้วย รายละเอียดติดต่อ โทร. 0 2562 0760 หรือสำรองที่พักด้วยตนเองที่ http://www.dnp.go.th เกาะเสม็ด เชื่อกันว่าคือเกาะแก้วพิสดาร ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อของระยอง ที่ได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ ตั้งอยู่ตำบลเพ อำเภอเมือง อยู่ห่างจากชายฝั่งบ้านเพประมาณ 6.5 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 3,125 ไร่ มีลักษณะเป็นเกาะรูปสามเหลี่ยม ส่วนฐานของเกาะอยู่ด้านทิศเหนือ ซึ่งหันเข้าสู่ฝั่งบ้านเพ มีภูเขาสลับซับซ้อนกันอยู่ 2-3 ลูก มีที่ราบอยู่ตามริมฝั่งชายหาด ส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านเหนือและตะวันออก เหตุที่มีชื่อว่า “เกาะเสม็ด” เพราะเกาะนี้มีต้นเสม็ดขาว และเสม็ดแดงขึ้นอยู่มาก ซึ่งในอดีตชาวบ้านนำมาใช้ทำไต้จุดไฟ บนเกาะเสม็ดไม่มีแม่น้ำลำคลอง ประมาณ 80% ของพื้นที่ เป็นภูเขาและป่าไม้เบญจพรรณ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน ช่วงเดือนพฤษภาคมมีมรสุมและคลื่นลมจัดมาก เดือนสิงหาคมมีฝนตกชุก



อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำเภอกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ



ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 130 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น กับอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 สภาพภูมิประเทศทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาตามแนวทิวเขาพนมดงรักกั้นชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยหากินข้ามไปมาในผืนป่าระหว่างสองประเทศได้แก่ หมูป่า กวาง เก้ง กระต่าย กระรอก ชะนี ชะมด เป็นต้น อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารยังมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้ ผามออีแดง ตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย กัมพูชา เป็นหน้าผาหินสีแดงที่มีทัศนียภาพกว้างไกลสุดตาและจากจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารได้ นับเป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ภาพสลักนูนต่ำ รูปแกะสลักโบราณ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้หน้าผามานับพันปี อยู่ทางทิศใต้ของผามออีแดง มีบันไดให้ลงไปชมได้สะดวก เป็นภาพเทพสามองค์ เชื่อว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างในการแกะสลักก่อนเริ่มการแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร สถูปคู่ ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของผามออีแดง ตัวสถูปทำจากหินทรายตัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ด้านบนกลมมนตั้งอยู่คู่กัน ข้างในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของ เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของสมัยนั้น ปราสาทโดนตวล สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 อยู่บริเวณบ้านภูมิซรอล เป็นปราสาทหินแบบขอม ตั้งอยู่ในเขตประเทศไทยห่างจากหน้าผาชายแดนไทย-กัมพูชา ประมาณ 300 เมตร มีตำนานเล่าว่านามนมใหญ๋ (เนียงเดาะทม) ได้แวะพักที่แห่งนี้ในขณะที่เดินทางไปเฝ้ากษัตริย์พระองค์หนึ่ง แหล่งตัดหินเขาพระวิหาร เป็นร่องรอยการตัดหินเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเพื่อนำไปสร้างปราสาทเขาพระวิหารบนลานหินทรายของเทือกเขาพนมดงรัก โดยในเขตอุทยานฯค้นพบที่บริเวณลานหินผามออีแดง สถูปคู่ และบารายสระตราว น้ำตกและถ้ำขุนศรี น้ำตกอยู่เหนือถ้ำขุนศรีสูง 3 ชั้น ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของสระตราวใกล้เส้นทางเดินขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร ส่วนถ้ำขุนศรีภายในมีขนาดกว้างเชื่อกันว่าเป็นที่พักของขุนศรี ขณะมาควบคุมการตัดหินบริเวณสระตราวเพื่อใช้สร้างปราสาทเขาพระวิหาร เขื่อนห้วยขนุน เป็นอ่างเก็บน้ำชลประทานและเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯเขื่อนห้วยขนุน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 15 กิโลเมตร มีทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนเที่ยวชมธรรมชาติ และเข้าค่ายกางเต็นท์พักแรม เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่แนะนำมีสองเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางผามออีแดง-สระตราว มีพรรณไม้ที่น่าสนใจมากมายอาทิ พืชสมุนไพร กล้วยไม้ และดอกหญ้าบนลานหินช่วงปลายฝนต้นหนาว เส้นทางศึกษาธรรมชาติกล้วยไม้เขาพระวิหาร ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีกล้วยไม้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะเอื้องระฟ้า กล้วยไม้เฉพาะถิ่น เป็นพืชเด่นที่พบมากในอุทยานฯ ช่องอานม้า เป็นจุดผ่อนปรนในการค้าขายและผ่านแดนระหว่างไทย-กัมพูชา อยู่ที่ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเฉพาะวันอังคารและวันพฤหัสบดี


อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จ.ชัยภูมิ


อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตั้งอยู่บนเทือกเขาพังเหย ภูมิประเทศเป็นเนินเขาสลับซับซ้อน ระดับความสูงประมาณ 200-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ มีความหลากหลายของระบบนิเวศและมีไม้ดอกจำพวกดุสิตา เอนอ้าและกล้วยไม้ ขึ้นอยู่จำนวนมาก จุดท่องเที่ยวในเขตอุทยานได้แก่ ลานหินงาม เป็นบริเวณที่มีโขดใหญ่รูปร่างแปลกๆ กระจายอยู่เต็มไปหมดในเนื้อที่กว่า 10ไร่ เกิดจากการกัดเซาะของเนื้อดินและหินเป็นรูปลักษณ์แตกต่างกัน สามารถจินตนาการเป็นรูปต่าง ๆ เช่น หินรูปตะปู รูปเรด้าร์ รูปแม่ไก่ รูปถ้วยฟีฟ่า ฯลฯ ทุ่งดอกกระเจียว หรือ ทุ่งบัวสวรรค์ เหมาะมาเที่ยวชมในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม บนท้องทุ่งหญ้าเพ็กสีเขียวจะมีดอกกระเจียวสีชมพูอมม่วงขึ้นแซมอยู่ทั่วไป มองดูสวยงามมาก สุดแผ่นดิน เป็นจุดที่สูงที่สุดของเทือกเขาพังเหย ห่างจากที่ทำการอุทยานราว 2 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 846 เมตร เป็นแนวหน้าผาซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน ที่จุดชมวิวสุดแผ่นดินจะมองเห็นทิวทัศน์สันเขาสลับซับซ้อน และมีสายลมพัดเย็นสบายตลอดวัน อุทยานแห่งชาติป่าหินงามมีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว ในอุทยานฯด้วย ติดต่ออุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตู้ปณ. 2 ปทจ. เทพสถิต จ. ชัยภูมิ 36230 โทร. 0 4489 0105 หรือ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

วนอุทยานน้ำตกธารทิพย์ อำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์


มีพื้นที่อยู่ในท้องที่ตำบลบุ่งน้ำเต้า ตำบลบุ่งคล้า ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาโปลกหล่นและป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาป่าก่อ-วังชมภู เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำป่าสัก สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงป่าไม้อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ ไก่ป่า อ้น แมวป่า ผีเสื้อ วนอุทยานฯ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๘,๗๕๐ ไร่ สถานที่น่าสนใจในเขตวนอุทยานฯ ได้แก่ ศูนย์นิทรรศการ เป็นศูนย์ที่ให้ข้อมูลความรู้พื้นฐาน อยู่ที่ทำการวนอุทยานน้ำตกธารทิพย์ แก่งน้ำวิ่ง เป็นจุดแรกที่นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความสวยงาม แก่งนี้มีสายน้ำไหลซัดเซาะไปตามหิน สามารถลงเล่นน้ำได้ แก่งมะเดื่อ ที่แก่งนี้มีต้นมะเดื่อจำนวนมาก มีโขดหินที่โผล่อยู่กลางสายน้ำไหลกระทบกัน ตาดชมพู่ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ มีลานหินกว้างและมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับการลงเล่นน้ำ แก่งผาเอียง มีลักษณะคล้ายผาเอียงย้อนกลับคืน มีลานกว้างสามารถลงเล่นน้ำได้ สายน้ำไหลซัดเซาะเลี้ยวไปตามโขดหิน น้ำตกธารทิพย์ อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ ๑,๔๐๐ เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีชั้นเดียวและสวยงาม สูงประมาณ ๒๖ เมตร กว้าง ๓๐ เมตร มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ วังน้ำริน มีลักษณะคล้ายรูปหัวช้าง เป็นแหล่งกำเนิดเฟิร์นชนิดต่าง ๆ เช่น เฟิร์นรังนก เฟิร์นก้านดำ อยู่ใกล้จุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพด้านบนของน้ำตกธารทิพย์ได้ชัดเจน ทางวนอุทยานฯ ได้จัดกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ตามเส้นทางจะได้พบเห็นนก และผีเสื้อชนิดต่าง ๆ ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดิน ๓ ชั่วโมง
สถานที่พัก ทางวนอุทยานฯ ไม่มีบริการบ้านพัก แต่ได้จัดสถานที่กางเต็นท์พร้อมเต็นท์ไว้สำหรับนักท่องเที่ยว พักได้เต็นท์ละ ๒ คน หรือจะนำเต็นท์ไปเองก็ได้ นักท่องเที่ยวควรสอบถามข้อมูลก่อนเดินทางและเข้าพักได้ที่ โทร. ๐ ๑๒๒๖ ๐๕๖๕, ๐ ๙๐๘๐ ๐๑๑๑, ๐ ๙๗๐๕ ๙๑๔๖ การเดินทาง จากตัวเมืองเพชรบูรณ์ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑ เส้นเพชรบูรณ์-หล่มสัก ประมาณ ๒๘ กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๒๕๐ ถึงบริเวณบ้านบุ่งน้ำเต้า จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามทางสายบ้านบุ่งน้ำเต้า-ทุ่งสมอ อำเภอเขาค้อ อีก ๔ กิโลเมตร พอถึงสามแยก ม.พัน ๒๘ ให้เลี้ยวซ้ายไป ๒๕ เมตร เข้าทางหลวงหมายเลข ๒๓๐๒ เส้นบ้านบุ่งน้ำเต้า-ทุ่งสมอ จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายอีกครั้งไปประมาณ ๑ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวไปที่ทำการวนอุทยานน้ำตกธารทิพย์ เข้าไปอีกเป็นระยะทาง ๑.๕ กิโลเมตร ก็จะถึงตัวน้ำตก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก จ.อุทัยธานี


ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มอบเป็นรางวัลแก่คนไทยและคนทั้งโลก อีกทั้งเป็นพื้นที่ทรงคุณค่าต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งคนและสัตว์ป่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นมรดกแห่งแผ่นดินตลอดไป ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ระหว่างวันที่ 9 - 13 ธันวาคม 2534 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย ห้วยขาแข้งมีพื้นที่ครอบคลุม 6 อำเภอ 3 จังหวัดคือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีพื้นที่ 3,609,375 ไร่ หรือ 5,775 ตารางกิโลเมตร โดยมีการรวมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเข้ามาด้วยทำให้เป็นผืนป่าอนุรักษ์ต่อเนื่องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา จ.กระบี่

มีเนื้อที่ประมาณ 152 ตารางกิโลเมตร ในอำเภอเกาะลันตา ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ เกาะลันตาใหญ่ เกาะลันตาน้อย เกาะตะเล็งเบ็ง และเกาะใกล้เคียง รวมไปถึงหมู่เกาะห้า หมู่เกาะรอก และเกาะไหง เกาะที่น่าท่องเที่ยวของอุทยานฯ ได้แก่ เกาะลันตาน้อย เป็นเกาะที่เป็นชุมชนของชาวเกาะลันตาในอดีตมาก่อน มีที่ว่าการอำเภอ มีโรงเรียนวิถีชีวิตแบบเก่า ๆ บ้านเรือนโบราณยังมีให้พบเห็น เกาะลันตาใหญ่ มีรูปร่างยาวเรียวจากเหนือมาใต้ ศูนย์กลางธุรกิจของเกาะอยู่ที่บริเวณท่าเรือศาลาด่านซึ่งมีทั้งบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ธนาคาร ด้านตะวันตกเรียงรายไปด้วยชายหาดและอ่าวที่สวยงามมากมายได้แก่ หาดคอกวาง หาดโละบารา อ่าวพระแอะ หาดคลองโขง หาดคลองนิน และมีถนนตัดจากท่าเรือตอนเหนือผ่านชายหาดต่าง ๆ ไปจนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาซึ่งอยู่ตอนใต้สุดของเกาะ พื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะมีสภาพเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยป่าที่สมบูรณ์ ส่วนด้านตะวันออกมีชุมชนเก่าของเกาะลันตาเนื่องจากเคยเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอมาก่อน ซึ่งย้ายไปอยู่ที่เกาะลันตาน้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่บนเกาะลันตานับถือศาสนาอิสลาม และที่บ้านสังกะอู้ยังมีชนพื้นเมืองที่ยังคงยึดถือวัฒนธรรมประเพณี ได้แก่ ประเพณีลอยเรือ ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานฯ มีจุดชมวิว แหลมโตนด ซึ่งเป็นที่ตั้งของประภาคาร จากมุมนี้สามารถมองเห็นโค้งอ่าวกรวดและอ่าวหาดทรายขาวสะอาดมาบรรจบกัน ตอนปลายสุดของแหลมเป็นที่ตั้งของเกาะหม้อ เป็นจุดดำดูปะการังน้ำลึก นอกจากจุดชมวิวแหลมโตนดแล้ว ยังมีจุดชมวิวบนยอดเขาบริเวณตอนกลางเกาะที่มีร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานอาหารพร้อมกับชมทิวทัศน์ของทะเลอันดามันที่มีเกาะต่าง ๆ อยู่ท่ามกลางผืนน้ำสีน้ำเงินบนเกาะลันตาใหญ่มีที่พักเอกชนเปิดให้บริการมากมาย ฤดูท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างแรมในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ควรติดต่อล่วงหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา เลขที่ 5 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ 81150 โทร. 0 7562 9018-9 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อำเภอปะเหลียน จ.ตรัง

เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ครอบคลุมพื้นที่อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง และอำเภอละงู จังหวัดสตูล ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2537 ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ อาทิ เกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะลันตี เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเหลาเหลียง และเกาะเปรามะ กิจกรรมท่องเที่ยวที่ น่าสนใจ ได้แก่ กิจกรรมดำน้ำบริเวณเกาะเหลาเหลียง ประกอบด้วยเกาะเหลาเหลียงน้อง และ เกาะเหลาเหลียงพี่ เป็นเกาะสัมปทานรังนกส่วนหนึ่งในหมู่เกาะแห่งอุทยานแห่งชาติเภตรา เขตจังหวัดตรังและสตูล บริษัทเอกชนได้รับสัมปทาน เกาะเหลาเหลียงน้อง เปิดเป็นที่พัก ธรรมชาติใต้ท้องทะเลส่วนใหญ่ยังคงงดงามสมบูรณ์อยู่ทั้งความหลากหลายของ พันธุ์ปลา และปะการังทั้งอ่อนและแข็ง ความสวยงามของชาดหาดทรายเม็ดละเอียด และน้ำทะเลสีเขียวใสก็ยกให้เท่าหมู่เกาะสุรินทร์ เพียงแต่ว่าเกาะเหลาเหลียงมีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น กิจกรรมผจญภัยบนเกาะ มีทั้งไต่หน้าผา พายเรือคายัก ดำผิวน้ำ ดำน้ำลึก แล้วตอนกลางคืนก็มีทัวร์ดูปูไก่ ทัวร์ดำน้ำกลางคืน การแสดงลอดบ่วงไฟ ควงกระบองไฟ นับว่ามีการจัดการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ได้ดี สถานที่พัก ที่นี่มีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากอุทยานไม่อนุญาติให้มีสิ่งปลูกสร้างถาวรบนเกาะ จึงใช้เต็นท์เป็นที่พัก แต่เป็นเต็นท์ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม เตียงนุ่มๆ พัดลม โคมไฟ โต๊ะเขียนหนังสือ แถมปลั๊กไฟให้ด้วย และห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวม ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0 2938 9061 โทรสาร 0 2938 9062 e-mail: info@xsitediving.com หรือ www.xsitediving.com จุดดำน้ำตื้นในหมู่เกาะเภตรา ได้แก่ เกาะเหลาเหลียงน้อง เกาะเหลาเหลียงพี่ เกาะตะเกียง เกาะเภตรา ส่วนเกาะตะลุ้ยน้อย ตะลุ้ยใหญ่ และเกาะทะลุเป็นจุดดำน้ำลึก ส่วนเกาะตาใบเป็นเกาะที่อยู่ปลายสุดด้านจังหวัดสตูล การเดินทางไปอุทยานฯ สามารถเช่าเรือจากท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล หรือจากท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง ช่วงที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวคือ เดือนธันวาคม ถึงเดือนเมษายน บริเวณที่ทำการอุทยานมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พื่ช โทร. 0 2562 0760 หรือ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา หมู่ที่ 4 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล โทร. 0 7478 3074 หรือ www.dnp.go.th

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อำเภอสิเกา จ.ตรัง

เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอกันตังและอำเภอสิเกา มีอาณาเขตชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 20 กิโลเมตรอุทยานประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2525 ที่ทำการอุทยานอยู่ที่หาดฉางหลาง ตำบลไม้ฝาด แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ดินสถานที่ท่องเที่ยวของอุทยานได้แก่ ปากเมง หาดฉางหลาง หาดยาว หาดหยงหลิง หาดสั้น หาดเจ้าไหม ถ้ำเจ้าไหม นอกจากนี้ยังมีเกาะน้อยใหญ่อีก 7 เกาะในทะเลตรัง ที่อยู่ในความดูแลของอุทยาน ได้แก่ เกาะมุก เกาะกระดาน เกาะเชือก เกาะปลิง เกาะแหวน เกาะเมง และเกาะเจ้าไหม นอกจากนั้นบริเวณอุทยานมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติทางทะเล จะทำการวิจัยหญ้าทะเล เป็นแหล่งคุณค่าทางนิเวศวิทยาของฝั่งทะเลอันดามัน สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 7521 3258 อุทยานมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวบริการ สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150 โทร. 0 7521 3260 หรือ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พื่ช โทร. 0 2562 0760 การเดินทาง อุทยานอยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 47 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายตรัง - สิเกา - ปากเมง (ทางหลวงหมายเลข 4162) ระยะทาง 40 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบชายหาดอีก 7 กิโลเมตร

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552


น้ำตกห้วยแก้ว

เป็นน้ำตกเล็ก ๆ สูงประมาณ 10 ม. อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 6 กม. น้ำตกห้วยแก้วมีน้ำไหลตลอดปี รอบ ๆ บริเวณก็สวยงามด้วยทิวทัศน์และร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ นอกจากนั้นยังมีที่พักผ่อน นำอาหารไปนั่งรับประทานกันที่ ผาเงิบและวังบัวบาน อันเป็นสุสานแห่งความรัก ของสาวบัวบานผู้ถือรักเป็นสรณะ


วัดเจดีย์หลวง


ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านท่าใน ตำบลควนทอง เป็นชุมชนโบราณ ซึ่งมีร่องรอยของเนินดิน สระน้ำ หินชิ้นส่วนของเทวสถาน แท่นเทวรูป แท่นศิวลึงค์ ที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก
เป็นวัดที่มีเจดีย์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของ จ. เชียงใหม่ ปัจจุบันยอดเจดีย์ได้หักพังลงมาเมื่อคราวเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2088 วัดเจดีย์หลวงจึงเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552





อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ หรือที่เรียกกันว่า "ปราสาทเมืองสิงห์" อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานบ้านเก่าประมาณ 7 กิโลเมตร เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 323 เส้นทางสายกาญจนบุรี-ไทรโยค จนถึงกิโลเมตรที่ 15 จะมีทางแยกซ้ายไปปราสาทเมืองสิงห์อีก 7 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีศิลปะการก่อสร้างอยู่ในยุคลพบุรีตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16–18 ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีเนื้อที่ประมาณ 800 กว่าไร่ กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงขนาดกว้าง 880 เมตร โดยได้รับอิทธิพลทางศาสนา และวัฒนธรรมจากกัมพูชา ตัวปราสาทล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง คูน้ำ และแนวคันดิน รูปแบบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมสร้างตามลักษณะขอมแบบบายน ตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของประเทศกัมพูชาที่มีลักษณะช่างท้องถิ่นผสมอยู่





อุทยานแห่งชาติไทรโยค มีเนื้อที่ 598,750 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523 สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูน ประกอบด้วยพื้นที่ป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ไทรโยคได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่แห่งเดียวในประเทศไทยที่มีค้างคาวที่เล็กที่สุดในโลกคือ ค้างคาวกิตติ และ ปูราชินี ปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกอาศัยอยู่ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทรโยคเคยเป็นค่ายพักแรมของทหารญี่ปุ่น ปัจจุบันปรากฎร่องรอยเตาหุงข้าวและซากเตาไฟอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบร่องรอยมนุษย์ยุคหินเก่า มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือน้ำตกไทรโยคใหญ่ หรือ เรียกอีกชื่อว่า น้ำตกเขาโจน ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติไทรโยค เนื่องจากเป็นน้ำตกที่ไหลตกลงจากหน้าผาลงสู่แม่น้ำแควน้อยราวกับกระโจนลงมา น้ำตกไทรโยคใหญ่จะมีน้ำตลอดปี และน้ำจะแรงมากในฤดูฝน และในอดีตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) เคยเสด็จประพาส ณ น้ำตกแห่งนี้ ภายในอุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติหลายเส้นทาง และมีจุดชมวิวสะพานแขวนไทรโยคที่จะเห็นน้ำตกไทรโยคได้ชัดเจน

สถานที่ท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติคลองลาน

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิง
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส ดู ฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม 17 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนมีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี